ทำบุญสารทเดือนสิบเมืองคอน เป็นงานบุญเพื่อุทิศส่วนกุศล ให้บรรพบุรุษญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ยังมีกรรมต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิ
ในวันสารทเดือนสิบ ยมบาลจะปลดปล่อยให้ออกมาเยี่ยมลูกหลาน เพื่อมารับส่วนบุญกุศลที่บรรดาลูกหลาน ญาติพี่น้องทำบุญให้ มีเพียงปีละครั้ง คือในวัน แรม ๑๔ / แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ (ประมาณปลายเดือนกันยายน หรือ ต้นเดือนตุลาคม) พอถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ต้องกลับไปชดใช้กรรมตามเดิม จนกว่าจะหมดเวรหมดกรรมต่อไป
- งานบุญสารทเดือนสิบ จะเริ่ม ตั้งแต่วัน แรม ๑๓ ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่าวันจ่าย พ่อค้าแม่ค้าจะนำของมาขาย ที่ตลาดทุกแห่ง จะคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนมาจับจ่ายซื้อของ เพื่อเอาไปจัด หมรับ ต้องใส่ พืชผักผลไม้และที่สำคัญต้องมีขนมเดือนสิบ มีขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซัม ขนมไข่ปลา ข้าวกระยาสารท และขนมอื่นๆ ทั่วไปที่มีขายในตลาด
- วันแรม ๑๔ ค่ำ เป็นวันยก หมรับไปถวายวัด มีการตกแต่งกันอย่างสวยงามตามฐานะของแต่ละคน หรือหมู่คณะ มีขบวนแห่กันครึกครื้น สวยงาม มีการประกวด หมรับ เพื่อชิงรางวัล ถือเป็นงานประจำปีอันยิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกว่า “งานเดือนสิบ”
- วันแรม ๑๕ ค่ำ จะเป็นวันทำบุญอีกเป็นวันสุดท้าย เมื่อถวายเพลพระ และบังสกุลเสร็จแล้ว ก็จะเอาขนมเดือนสิบ ไปวางไว้ ตามต้นไม้ หรือกำแพงวัด แต่บางวัดได้จัดที่วางไว้ให้ โดยเฉพาะ เรียกว่าการ “ตั้งเปรต” คือให้พวกผีไม่มีญาติ ได้กิน หลังจากการตั้งเปรตและอุทิศส่วนกุศลแล้ว บุคคลทั่วไปเข้าไปแย่งชิงขนมเหล่านั้นได้ เรียกว่า “ชิงเปรต” เป็นอันเสร็จสิ้นการทำบุญสารทเดือนสิบ
ช่วงเวลา
ระยะเวลาของการประกอบพิธีสารทเดือนสิบมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำถึงแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ แต่วันที่ชาวนครศรีธรรมราชนิยมทำบุญคือวันแรม ๑๓-๑๕ ค่ำ
ความสำคัญ
เป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษ อันได้แก่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ในโอกาสนี้เองลูกหลานและผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที
พิธีกรรม
พิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบ มีดังนี้
๑. การจัดหมรับ
เริ่มในวันแรม ๑๓ ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมซื้ออาหารแห้ง พืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ จัดเตรียมใส่หมรับ
การจัดหมรับ คือ การบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ถาด กาละมัง เข่ง กระเชอ เป็นต้น ชั้นล่างสุดบรรจุอาหารแห้ง ชั้นสองเป็นพืชผักที่เก็บไว้นาน ชั้นสามเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ขั้นบนสุด ประดับขนมสัญลักษณ์เดือนสิบ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ
ขนมแต่ละชนิดมีความหมายดังนี้
ขนมลา เป็นเสมือนเสื้อผ้าที่ให้บรรพบุรุษใช้นุ่งห่ม
ขนมพอง เป็นเสมือนแพที่ให้บรรพบุรุษข้ามห้วงมหรรณพ
ขนมกง เป็นเสมือนเครื่องประดับ ใช้ตกแต่งร่างกาย
ขนมบ้า เป็นเสมือนเมล็ดสะบ้า ไว้เล่นในวันตรุษสงกรานต์
ขนมดีซำ เป็นเสมือนเงินตรา ไว้ให้ใช้สอย
ขนมลา – ขนมกง – ขนมพอง – ขนมบ้า – ขนมดีซำ (จากซ้ายไปขวา ตามลำดับ)
๒. การยกหมรับ
ในวันแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะยกหมรับที่จัดเตรียมไว้ไปวัดและนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย โดยเลือกไปวัดที่อยู่ใกล้บ้านหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยมไป
๓. การฉลองหมรับและบังสุกุล
เมื่อนำหมรับไปวัดแล้ว จะมีการฉลองหมรับและทำบุญเลี้ยงพระเสร็จแล้วจึงมีการบังสุกุล
การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปยังเมืองนรก
๔. การตั้งเปรต
เสร็จจากการฉลองหมรับและถวายภัตตาหารแล้ว ชาวบ้านจะนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณลานวัด ข้างกำแพงวัด โคนไม้ใหญ่ เรียกว่า ตั้งเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศลเป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่มาร่วมทำบุญให้
การชิงเปรตจะทำตอนตั้งเปรตเสร็จแล้ว เพราะเชื่อว่าถ้าหากใครได้กินของเหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จะได้รับกุศลเป็นสิริมงคลแก่ตนเองบางวัดนิยมสร้างหลาเปรต เพื่อสะดวกแก่การตั้งเปรต บางวัดสร้างหลาเปรตไว้บนเสาสูงเพียงเสาเดียว เกลาและชะโลมน้ำมันเสาจนลื่น เมื่อเวลาชิงเปรตผู้ชนะคือผู้ที่สามารถปีนไปถึงหลาเปรตซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงสนุกสนานและตื่นเต้น