ประวัติประเพณีสงกรานต์
ประเพณีสงกรานต์ของชนชาติไทในอุษาคเนย์ ส่วนใหญ่มักมีตำนานหรือเรื่องเล่ากล่าวถึงความเป็นมาที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะเรื่องของตัวละครที่มีนางทั้งเจ็ดหรือสิบสองคน ผลัดกันอุ้มศีรษะของพระพรหม ยักษ์ มาร หรือปีศาจในแต่ละปี
ในคัมภีร์ปฐมกัปป์ของไทเขิน กล่าวถึงการสร้างโลกของพระพรหม ขณะนั้นพระพรหมมีธิดาอันเกิดจากเหงื่อไคลของพระพรหมจำนวน ๗ นาง ครั้งหนึ่งพระอินทร์เกิดวิวาทะกับพระพรหม ได้ใช้กลอุบายให้ธิดาทั้งเจ็ดหาวิธีตัดเศียรพระพรหม โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าถ้าทำสำเร็จจะยกย่องให้เป็นชายา พรหมธิดาทั้งเจ็ดพยายามอยู่หลายวิธี ในที่สุด ธิดาคนสุดท้องก็สามารถตัดเศียรพระพรหมได้โดยใช้เส้นผมเป็นอาวุธ และด้วยเหตุที่ว่าเศียรของพระพรหมนั้นร้อนแรงดุจไฟโลกันต์ไม่อาจทำให้ตกถึงพื้นปฐพีได้ นางทั้งเจ็ดจึงสลับผลัดเปลี่ยนเวียนกันอุ้มเป็นปี ๆ ไป
ตำนานสงกรานต์ของชาวไทใหญ่เล่าไว้สองเรื่อง
เรื่องหนึ่งบอกว่า พระอินทร์กับอสิพรหมถกเถียงกันว่าระหว่างศีลกับทานสิ่งใดเป็นยอดของบุญ เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงลงมาโลกมนุษย์เพื่อให้พราหมณ์ที่ชื่อ “กะลาไมเอง” เป็นผู้ตัดสิน หากใครแพ้จะถูกตัดศีรษะ กะลาไมเองตัดสินว่าศีลเป็นยอดของบุญ พระอินทร์เป็นฝ่ายชนะ อสิพรหมจึงถูกตัดศีรษะ แต่ศีรษะของอสิพรหมเป็นอันตรายมาก หากตกในมหาสมุทรน้ำจะเหือดแห้ง ตกบนแผ่นดินจะแล้งทั่วทั้งโลก พระอินทร์จึงมอบศีรษะของอสิพรหมให้นางฟ้า ๗ นาง ผลัดเปลี่ยนกันอุ้มไว้มิให้ตกตลอดไป
อีกตำนานเล่าว่า ในอดีตครั้งเมื่อมีการสร้างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวอื่นๆ ขุนอินทร์ (พระอินทร์) และขุนสาง (พระพรหม) มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการกำหนดแม่ปีว่าควรจะมี ๑๒ ปี หรือ ๖๐ ปี จึงลงมาให้มนุษย์ชื่อ “กาละไม้” ตัดสิน กาละไม้ให้ขุนอินทร์เป็นฝ่ายชนะ ขุนสางจึงถูกตัดศีรษะ ขุนอินทร์ทราบว่าศีรษะของขุนสางร้อนแรงมากจึงมอบให้ “นางผี” (เทวดา) ๗ นาง ผลัดกันอุ้มศีรษะของขุนสางไว้
ชาวไทลื้อมีนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับการตัดศีรษะเช่นกัน แต่ผู้ถูกตัดนั้นมิได้เป็นพระพรหมแต่กลับเป็นยักษ์ มารและปีศาจ
เรื่องที่เป็นยักษ์เล่าว่า มียักษ์ตนหนึ่ง รุกล้ำเข้าไปทำร้ายผู้คนชาวเมืองพาราณสี และได้จับเอาสาวงามไปเป็นเมียถึง ๗ คน ต่อมาเมียคนที่เจ็ดได้โอกาสใช้เส้นผมของยักษ์ตัดคอยักษ์ตาย
เรื่องที่เป็นมารนั้นเล่าว่าพระยามารผู้หนึ่งดุร้ายยิ่งนัก จึงเป็นที่เกลียดกลัวของคนทั่วไป แม้แต่เมียทั้ง ๑๒ คนก็เกลียดกลัว แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะไม่มีผู้ใดล่วงรู้ถึงวิธีฆ่าพระยามาร ต่อมาเมียคนที่สิบสองออกอุบายมอมสุราและหลอกถามความลับจนรู้วิธีฆ่า คือใช้เส้นผมของพระยามารตัดคอ เมื่อนางสบโอกาสจึงใช้เส้นผมตัดคอพระยามารสิ้นชีวิต
ส่วนเรื่องที่เป็นปีศาจเล่ากันว่า มีปีศาจร้ายตน หนึ่งมีเมียเป็นมนุษย์ ๗ คน ปีศาจนั้นมีชีวิตเป็นอมตะ แต่มีวิธีฆ่าให้ตายอย่างเดียวคือ ใช้เส้นผมของปีศาจเองตัดคอ ครั้งหนึ่งเมียคนที่เจ็ดล่วงรู้ความลับและได้ฆ่าปีศาจตายในเวลาต่อมา นิทานพื้นบ้านดังกล่าวต่างสรุปท้ายว่าศีรษะของยักษ์ก็ดี มารและปีศาจก็ดี ต่างตกถึงพื้นดินไม่ได้เพราะมีความร้อนแรง อาจเผาไหม้โลกให้เป็นจุณ ดังนั้นเมียของยักษ์ มารและปีศาจจึงต้องสับเปลี่ยนกันอุ้มศีรษะของผู้เป็นผัวโดยตลอด
ส่วนของไทยโดยเฉพาะในภาคกลางมีตำนานกล่าวถึงโดยละเอียดว่า
ยังมีเศรษฐีคนหนึ่งอยู่บ้านใกล้กับนักเลงสุรา วันหนึ่งนักเลงสุราเข้าไปสู่บ้านเศรษฐีพร้อมกล่าวคำผรุสวาทหยาบคายต่าง ๆ นานา เศรษฐีจึงกล่าวว่า เรานั้นมีสมบัติเป็นอันมาก ทำไมท่านจึงมากล่าวคำหยาบช้าต่อเรา นักเลงสุราตอบว่า แม้ท่านจะมีทรัพย์แต่หาบุตรมิได้ สู้เราไม่ได้แม้ไร้ทรัพย์แต่ก็มีบุตรสืบตระกูล เศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็เกิดความละอายจึงทำพิธีบวงสรวงขอบุตรต่อรุกเทวดาที่สถิต ณ ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำ รุกขะพระไทรได้ไปขอบุตรจากพระอินทร์ ซึ่งพระอินทร์ก็ได้ให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาเกิด เมื่อธรรมบาลอายุได้ ๗ ขวบก็เรียนจบไตรเพทรู้ภาษาของสัตว์ทั้งมวล จึงได้รับยกย่องเป็นอาจารย์บอกมงคลการต่างๆ แก่มนุษย์โลก
ขณะเดียวกันมนุษย์ก็นับถือท้าวกบิลพรหมผู้เป็นองค์บอกมงคลแก่ชาวโลกด้วย เมื่อท้าวกบิลพรหมทราบความจึงลงมาท้าทายธรรมบาลโดยถามปัญหา ๓ ข้อ คือ เวลาเช้า กลางวันและกลางคืน ศรีของมนุษย์อยู่ที่ใด ถ้าธรรมบาลตอบไม่ได้จะถูกตัดศีรษะ หากตอบได้ท้าวกบิลพรหมจะยอมตัดศีรษะบูชา ธรรมบาลขอผัดเวลาไป ๗ วัน เวลาผ่านไป ๖ วันแล้วธรรมบาลยังคิดหาคำตอบไม่ได้ จึงไปนอนไตร่ตรองอยู่ใต้ต้นตาล ขณะนั้นมีนกอินทรีสองผัวเมียทำรังอยู่บนต้นตาลนั้น นางนกอินทรีได้ถามผัวว่าพรุ่งนี้จะไปหาอาหารที่ไหน ผัวก็ตอบว่าจะไปกินซากศพของธรรมบาลเพราะธรรมบาลตอบปัญหาไม่ได้ และคำตอบของปัญหาก็ง่ายนิดเดียว คือ ศรีของมนุษย์ตอนเช้าอยู่ที่ใบหน้า กลางวันอยู่ที่หน้าอก และกลางคืนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงล้างหน้าตอนเช้า เอาน้ำลูบอกตอนกลางวัน และล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลได้ยินดังนั้นก็จำได้ รุ่งขึ้นวันที่เจ็ดก็สามารถตอบปัญหาได้ทั้งหมด
ท้าวกบิลพรหมก่อนตัดศีรษะได้เรียกธิดาทั้งเจ็ด คือนางทุงษะ โคระ รากษส มณฑา กิริณี กิมิทาและนางมโหธร บอกว่าศีรษะของเราหากตกลงบนแผ่นดินไฟก็จะลุกไหม้โลกธาตุ โยนไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง ตกในมหาสมุทรจะเหือดแห้งโดยพลัน ดังนั้นจงผลัดกันเอาพานมารับแล้วให้เทพบริวารแห่เวียนประทักษิณเขาพระสุเมร ครั้นถึงวาระครบ ๓๖๕ วัน ในวันสงกรานต์ ให้ทรงเทพพาหนะต่าง ๆ เชิญศีรษะเราออกแห่ทุกปี
เรื่องราวของนางต่างๆ ที่กล่าวมา สำหรับล้านนานั้นไม่มีเรื่องเล่า แต่มีการกล่าวถึงการเคลื่อนไปของสุริยเทพคือขุนสังขานต์และมีนางเทวดามารอรับเอา นางเทวดาดังกล่าวมีเจ็ดนางได้แก่ นางแพงสี มโนรา มัณฑะ สุรินทะ กัญญา รัตตา และนางยามา นางเทวดาเหล่านี้มีหน้าที่มารับเอาขุนสังขานต์ ซึ่งแต่ละนางจะมารับด้วยอาการประจำของตน กล่าวคือ นางแพงสี นางมัณฑะ นางสุรินทะและนางยามาจะยืนรอรับ นางมโนราจะนอนรอรับและนางกัญญาจะรอรับด้วยอาการคุกเข่า
จากเรื่องราวของนางต่างๆ ที่นำเสนอโดยสังเขป ล้วนเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นเพื่ออธิบายการเคลื่อนไปของเวลาในช่วงหนึ่งที่เรียกว่า “สงกรานต์” แม้ในชนชาติอื่น ๆ จะไม่กล่าวชัดเจนด้านการให้ชื่อ แต่ชนชาติไทในสยามประเทศภาคกลาง ก็ระบุว่านางที่ปรากฏมีชื่อว่า “นางสงกรานต์” และเมื่อประมวลจากการปฏิบัติ ก็ไม่ปรากฏว่าชนไทชาติกลุ่มใดจะนำเอานางเหล่านั้นมาแสดงในรูปขบวนแห่จะมีเฉพาะคนไทยภาคกลาง ทั้งนี้อาจเป็นกิจกรรมที่จัดให้มีขึ้นเพื่อจำลองตำนานให้เป็นเรื่องราวเชิงการแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
การแห่นางสงกรานต์เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครก่อน จังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะเชียงใหม่ก็ปฏิบัติตาม ด้วยเห็นว่างดงามและน่าส่งเสริม แต่การแห่ดังกล่าวนั้น ได้ภาพจำลองจากปฏิทินบัตรประกาศสงกรานต์ของภาคกลาง แม้กระทั่งในลาวเองก็ยึดปฏิบัติ เมื่อได้ภาพชัดจากเชียงใหม่ แต่ให้ชื่อว่า “นางสังขานต์”
ดังนั้นหากจะดูนางสงกรานต์ ก็คงต้องดูจากภาพในปฏิทินบัตรหรือดูจากขบวนแห่นางสงกรานต์ที่นิยมกันทั่วไทยในปัจจุบันนี้.
สนั่น ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์ ตันตระกูล)