อุปกรณ์ทำขนมไทย
วันนี้เอาอุปกรณ์ทำขนมไทยแปลก ๆ หาดูได้ยากมาฝาก ส่วนข้อมูลที่ได้มาจาก bangkokfood.com ซึ่งส้มเก็บไว้นานหลายปีแล้ว ขอบคุณมา ณ. โอกาสนี้ด้วยนะค่ะ ส่วนรูปขนมต่าง ๆ นำมาประกอบให้ดูจะได้เข้าใจง่ายขึ้นด้วย
คิดว่าคงเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ นะคะ อย่ามัวแต่ทำขนมเบเกอรี่ฝรั่ง ควรหันมาทำหรืออุดหนุนขนมไทยกันบ้างนะจ๊ะ
หากเพื่อน ๆ หาอุปกรณ์ขนมไหนตัวไหนอยู่ละก็ ลองแวะเข้าไปชมตลาดนัดส้มซ่าหมวดอุปกรณ์ขนมไทยดูนะจ๊ะ
อาจจะมีสิ่งที่เพื่อน ๆ หาอยู่ก็ได้ค่ะ (ปิดตลาดนัดส้มซ่าไปก่อนไม่มีกำหนดนะค่ะ)
พิมพ์ทองม้วน
ลักษณะของพิมพ์
- เป็นแผ่นเหล็กกลมหรือสี่เหลี่ยม ประกบติดกันเป็นคู่
- มีด้ามยาวสำหรับถือเวลาผิงไฟ
- ด้านในของพิมพ์จะมีลวดลายต่าง ๆ กัน
วิธีการใช้
- ควรปิ้ง หรือ ผิงพิมพ์ให้ร้อนเสียก่อน ทาด้วยน้ำมันพืชหรือน้ำมัน โดยใช้ลูกประคบซึ่งทำจากผ้าสะอาดห่อกากมะพร้าว ชุบ น้ำมันเช็ดทาพิมพ์
- เมื่อพิมพ์ร้อนจัดตักแป้ง 1 ช้อน ใส่ลงตรงกลางพิมพ์ แผ่นที่ประกบด้านล่าง กดพิมพ์ประกบกันให้สนิท แป้งที่ใส่จะไหลเป็นแผ่นบางไปทั่วพิมพ์
- ปิ้งไฟทันทีจนกระทั่งสุกเหลืองดี ใช้มีดปลายแหลมแซะออกม้วนหรือพับ
ถ้าม้วนก็เรียกว่าทองม้วน ถ้าพับก็เรียกว่าทองพับ - ส่วนเกล็ดกระโห้ก็เป็นลักษณะเดียวกัน แต่วิธีการทำและการเลือกพิมพ์จะแตกต่างกัน เกล็ดกระโห้จะใช้พิมพ์ไม่มีลาย แผ่นจะเล็กกว่า เพื่อให้เหมือนลักษณะเกล็ดปลาจริง ๆ
พิมพ์ขนมไข่
ลักษณะของพิมพ์
- พิมพ์ขนมไข่ส่วนใหญ่จะทำด้วยทองเหลือง ประกอบไปด้วย ช่องสำหรับหยอดแป้งลงไปประมาณ 12 ช่อ ต่อ 1 พิมพ์ แต่ละช่องอาจจะประกอบด้วย รูปดอกไม้ กลม รี หรือรูปเหลี่ยม
- พิมพ์ขนมไข่จะมีฝา ซึ่งทำด้วยทองเหลืองหนา สำหรับใส่ถ่านซึ่งจะให้ความร้อนด้านบนของขนม มีห่วงที่ฝา ซึ่งจะใช้เหล็กงอยกฝาขึ้น เวลาที่จะหยอดขนมหรือแซะขนมออกจากพิมพ์
วิธีการใช้
- ล้างพิมพ์ให้สะอาด เช็ดด้วยน้ำมันให้ทั่ว ผิงไฟ โดยใช้ถ่านซึ่งคุแดงใส่ในเตาเกลี่ยพอประมาณ และ ใส่ด้านบนฝาของพิมพ์ด้วย ใช้ลูกประคบชุบน้ำมันเช็ดให้ทั่วบริเวณที่หยอดขนม
- ตักแป้งลงหยอดให้เต็มปิดฝา ควรระวังเรื่องการใช้ไฟเพราะขนมจะไหม้ พอขนมสุกใช้เหล็กโค้งงอคล้องที่ห่วงข้างบนใช้ซ่อมหรือไม้แหลมจิ้ม ขนมออกจากพิมพ์
- เมื่อเสร็จจากการประกอบอาหารแล้ว ล้างพิมพ์ให้สะอาด ควรเช็ดพิมพ์ด้วยน้ำมันพืชอีกครั้ง พิมพ์จะไม่เป็นสนิมและทำขนมครั้งต่อไปแป้งจะไม่ติดพิมพ์
พิมพ์ดอกจอก
ลักษณะของพิมพ์ เป็นทองเหลืองทำเป็นรูปดอกไม้โปร่ง มีเหล็กยาวสำหรับถือติดกับตัวพิมพ์
วิธีการใช้
- ดอกจอกเป็นขนมที่ต้องทอดในน้ำมันมาก ๆ ก่อนใช้ แช่พิมพ์ในน้ำมันร้อนจัด เพื่อให้พิมพ์ร้อนเสียก่อน เมื่อพิมพ์ร้อนแล้วจุ่มพิมพ์ลงในแป้งที่ผสมไว้ เพื่อให้แป้งเกาะพิมพ์เป็นรูปทรงก่อน จึงนำลงทอดในน้ำมัน ร้อนปานกลาง
- พอสุกค่อย ๆ ใช้ปลายมีดแซะขนมออกจากพิมพ์ ขนมจะหลุดง่าย ตักขนมขึ้นจากน้ำมันวางบนก้น ถ้วยขนาดเล็กเท่ากับถ้วยข้าวต้มที่คว่ำไว้ กลีบขนมจะบานออกเป็นรูปดอกไม้ เมื่อเย็นจึงเก็บบรรจุถุงหรือขวด โหลไว้เพื่อให้กรอบนาน
- ส่วนพิมพ์ล้างให้สะอาดก่อนเก็บทาด้วยน้ำมันอีกครั้ง แล้วจึงแขวนไว้ในที่ลมโกรก
พิมพ์รูปเรือ
ลักษณะของพิมพ์ หัวและท้ายจะเรียวแหลม คล้ายรูปเรือ
- ใช้ทำขนมไทย เช่น ขนมหน้านวล ขนมผิง วุ้นต่าง ๆ ส่วนเบเกอรี่
- ใช้ทำพวกพาย เช่น พายสับปะรด
วิธีการใช้
- ถ้าเป็นขนมหน้านวลหรือขนมผิง ทาด้วยน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมูด้านในพิมพ์บาง ๆ ก่อนจะใส่ส่วนผสมของแป้งและนำไปอบ ขนมจะไม่ติดพิมพ์ เวลาสุกขนมจะร่อนออกจากพิมพ์ได้ดี
- เมื่อใช้เสร็จแล้วล้างน้ำให้สะอาด เช็ดให้แห้ง ซ้อนกันไว้ เก็บใส่กล่องเก็บไว้ในที่ไม่มีมด หนู หรือแมลงสาบ
พิมพ์ลอดช่อง / พิมพ์ซาหริ่ม
ลักษณะของพิมพ์
- จะประกอบด้วยส่วนกระป๋องมีหู 2 หู และมีที่กดแป้ง รูที่ก้นพิมพ์จะมีขนาดกว้างประมาณ 2 – 5 มิลลิเมตร ตัวกระป๋องอาจเป็นทองเหลือง อลูมิเนียมและสแตนเลสก็ได้
- ส่วนใหญ่นิยมทองเหลือง เพราะไม่ทำให้แป้งลอดช่องดำ เวลาทำสมัยก่อนนิยมใช้กะลามะพร้าวขัดเจาะรูที่ก้น และมีขายาวพาดที่ถัง เวลาใช้ตักแป้งใส่ และใช้ทัพพีกด
วิธีการใช้
- ใช้ไม้ยาวขนาดพอที่พาดขอบถังหรือหม้อได้ 2 อัน สอดเข้าที่หูของพิมพ์วางพาดบนหม้อที่ใส่น้ำเย็นไว้จนเกือบเต็ม
- ตักแป้งที่กวนไว้ ใส่พิมพ์ประมาณค่อนพิมพ์ ใช้ที่กดกดแป้ง ตัวลอดช่องจะออกมาตามรูที่ ก้นของพิมพ์ การกดต้องเว้นจังหวะให้พอเหมาะ มิฉะนั้นตัวลอดช่องจะยาวหรือสั้นเกินไปทำให้ไม่น่าดู
พิมพ์ซาหริ่ม
ลักษณะของพิมพ์ เหมือนกับพิมพ์ลอดช่องทุกอย่าง แต่รูที่เจาไว้เล็กกว่า เพื่อให้เส้นซาหริ่มที่ออกมาสวยงาม
วิธีการใช้ เหมือนกับพิมพ์ลอดช่อง แต่การกดซาหริ่มต้องกดยาวให้หมดทีเดียว ถ้ากดไม่สม่ำเสมอเส้นซาหริ่ม ที่ออกมาอาจเป็นก้อนแป้งหรือเส้นขาดฝอยเกินไป
พิมพ์ไม้ (พิมพ์ทองเอก / พิมพ์อัดถั่วกวน / สัมปันนี)
ลักษณะของพิมพ์
- เป็นแท่งไม้ กว้างยาวประมาณ 2×6 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ขุดลงไปในเนื้อไม้ เป็นรูปลายต่าง ๆ เช่น นก ดอกไม้ ผลไม้ พิมพ์ชนิดนี้ เหมาะสำหรับใช้ทำขนมทองเอก สำปันนี
- ถ้าพิมพ์ลายละเอียดเกิน ขนมออก มาจะไม่สวย เพราะจะเห็นลายไม่ชัดเจน ถ้าลายหยาบแต่ลึก ขนมที่ออกมาจะมีลายคมชัดสวยงามกว่า และทำความสะอาดง่ายด้วย
วิธีการใช้
- ใส่เนื้อขนมลงในช่องที่เป็นลวดลาย กดให้แน่นแกะออก ถ้าติดพิมพ์หรือขนมค่อนข้างแฉะ ใช้แป้งมันโรยที่พิมพ์ การโรยแป้งไม่ต้องโรยมาก ถ้าโรยแป้งหนาไป ขนมออกมาจะไม่สวย เมื่อโรยแป้งเคาะแป้งออก ให้เหลือแค่ติดพิมพ์
- จากนั้นกดเนื้อขนมลงไปและเคาะออก ขนมจะเป็นลวดลายตามต้องการ
พิมพ์อลูมิเนียมรูปต่าง ๆ
ลักษณะของพิมพ์
- จะเป็นอลูมิเนียมรูปร่างต่าง ๆ เช่น ถ้วยกลมจีบ ถ้วยสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม รูปกระต่าย รูปปลา
- พิมพ์ชนิดนี้ถ้าจีบถี่ ๆ จะทำความสะอาดยาก เวลาใช้เสร็จควรแช่น้ำให้สิ่งสกปรกที่ติดหลุดออกจึงล้าง
- เหมาะที่จะใช้เป็นพิมพ์วุ้นต่าง ๆ เช่น ขนมชั้น ปุยฝ้าย เพราะทนความร้อนได้ดี
วิธีการใช้
- ถ้าใช้ทำวุ้นเรียงพิมพ์ลงในถาดหยอดวุ้นลงไป แล้วหล่อน้ำในถาด ถ้าทำขนมชั้นนึ่งพิมพ์ให้ร้อน ก่อนจึงหยอดแป้ง
- ถ้าทำปุยฝ้ายวางถ้วยลงในลังถึง กะระยะห่างพอให้ไอน้ำขึ้นได้ ใส่กระทงกระดาษลงในถ้วยจีบ หยอดแป้ง แล้วนำไปนึ่งในน้ำเดือดปุด ๆ หรี่ไฟลง
พิมพ์ขนมปลากริม
ลักษณะของพิมพ์ เป็นแผ่นทองเหลืองหรือแผ่นสังกะสี เจาะรูตรึงทั้ง 4 ด้านกับไม้
วิธีการใช้
- พาดตะแกรงบนหม้อน้ำเดือด ใช้แป้งดิบกดลงบนตะแกรง แป้งจะเป็นเส้นตกลงไปในหม้อพอสุก แป้งจะลอย
- ตักขึ้นแช่น้ำเย็น วิธีนี้อาจใช้กับการทำลอดช่องสิงคโปร์ก็ได้
กรวยหยอดฝอยทอง
ลักษณะของพิมพ์ เป็นรูปกรวยมีด้ามถือที่ปลายกรวย เจาะรูเดียวหรือ 2 รู วัสดุที่ใช้ทำจะเป็นทองเหลือง หรือ สแตนเลสก็ได้
วิธีการใช้
- ใส่ไข่แดงที่ตีให้เข้ากันลงในกรวย ถือกรวยให้อยู่เหนือกระทะน้ำเชื่อมพอประมาณ
- โรยฝอยทองให้ เป็นวงกลมโดยนับรอบให้เท่ากัน เพื่อให้ฝอยทองมีขนาดแพที่เท่ากัน
กรวยหยอดไข่แมงดาเทียม
ลักษณะของพิมพ์
- คล้ายกับกรวยหยอดฝอยทอง เป็นรูปกรวยมีรูปลายกรวย 1 หรือ 2 รู แต่รูจะใหญ่กว่ากรวยหยอดฝอยทอง
- วัสดุที่ใช้ทำอาจเป็น ทองเหลือง หรือสแตนเลสก็ได้ ถ้าไม่มีทั้งสองอย่างใช้ใบตอง ม้วนเป็นกรวย ก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน
วิธีการใช้
- ใช้ไข่แดงใส่กรวย ถือกรวยอยู่เหนือกระทะน้ำเชื่อม ใช้วิธีการหยอด ไม่ใช้วิธีการโรยเหมือน ทองหยอด
- ลักษณะของขนมที่ออกมาจะเป็นเม็ดกลม ๆ สีเหลืองใสเหมือนไข่แมงดา
พิมพ์กดวุ้น
ลักษณะของพิมพ์
- จะเป็นอลูมิเนียม เหล็ก หรือทองเหลือง เป็นเส้นคมขดหรือดัดเป็นรูปต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ ใบไม้ นก สัตว์ต่าง ๆ
- ใช้สำหรับกดลงไปบนขนมหรือของที่ไม่แข็งมาก เป็นการตกแต่งให้สวยงามที่ใช้กันมาได้แก่ กดลงไปบนวุ้นกะทิหรือวุ้นหวานต่าง ๆ ถ้ากดลงบนผักหรือผลไม้ แล้วนำไปประกอบอาหารก็เช่นกัน
พิมพ์ขนมเรไร
ลักษณะของพิมพ์ ประกอบด้วยไม้ 2 ชิ้น ประกบติดกัน มีบานพับติดสำหรับยกขึ้นใส่แป้ง ข้างหนึ่งจะเจาะเป็น ช่องกลม มีสังกะสีเจาะรูบุอีกที อีกข้างหนึ่งจะมีไม้กลมยื่นออกมาขนาดเล็กกว่าช่องกลมอีกข้างหนึ่งนิดหน่อย
วิธีการใช้
- หงายพิมพ์ด้านที่มีสังกะสีเจาะรูขึ้น ใส่แป้งที่ปั้นเป็นก้อนกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว ลงบนด้านที่มีไม้ยื่นออกมา
- กดทับพิมพ์ลงเหมือนบีบกล้วยปิ้ง แป้งขนมก็เป็นเส้นหยิกออกมาทางรูสังกะสี ใช้สปาตูล่าแซะไปใส่ในลังถึงนึ่งอีกที
ถ้วยตะไล
ลักษณะ เป็นถ้วยเคลือบดินเผา สีขาวขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 นิ้ว
วิธีการใช้
- ก่อนใช้ต้องล้างให้สะอาด
- ใช้ทำขนมถ้วยฟู ขนมน้ำดอกไม้ ต้องนึ่งถ้วยให้ร้อนเสียก่อน ขนมจะหลุดออกจากพิมพ์ได้ง่าย
ถ้าทำขนมปุยฝ้าย ใส่กระทงกระดาษลงในถ้วยอีกทีจึงหยอดแป้งลงไป - เมื่อใช้เสร็จแล้วล้างน้ำให้สะอาด ใส่ตะแกรงผึ่งให้แห้งซ้อน กันไว้เก็บใส่กล่อง
มือแมว (หรือคันชัก)
ลักษณะ
- มือแมวขูดมะพร้าวจะคล้ายกับมือของแมวจริง ๆ มะพร้าวที่ขูดออกมาจะเป็นฝอย
- แต่ถ้าขูดมะพร้าวอ่อนที่ใช้ทำข้าวเหนียวเปียก ต้องให้ติดกันเป็นชิ้นใหญ่
- ส่วนคันชักใช้ขูดมะพร้าวทึนทึกให้เป็นเส้น มะพร้าวที่ขูดด้วยคันชัก เส้นมะพร้าวจะใหญ่กว่าที่ขูดด้วยมือแมว
วิธีการใช้ ใช้ขูดมะพร้าวทั้งกะลา โดยขูดเอาเนื้อขาว ๆ โดยขูดวงรอบนอกเข้าหาข้างในสุด จะขูดง่ายกว่าขูดสะเปะสะปะ
แหนบจีบขนมช่อม่วง
ลักษณะ คล้ายแหนบที่ใช้ถอนขน แต่มีลักษณะแบนเรียบ หรือมีลวดลายเพื่อความสวยงามทำด้วยทองเหลือง หรือเหล็กใช้ทำขนมจีบ ขนมช่อม่วง ปั้นสิบ
วิธีใช้
- เมื่อปั้นแป้งเป็นโครงร่างตามต้องการ ใช้แหนบบีบริมให้เกิดรอยหยัก ในกรณีขนมปั้นสิบ
- ถ้าเป็นขนมช่อม่วง ปั้นเป็นก้อนกลมและจีบตั้งแต่ส่วนกึ่งกลางของลูกกลม ให้เป็นกลีบดอกด้านใน
และจีบไล่ออกมา เป็นกลีบดอกด้านนอก
กระจ่าละเลงขนมเบื้อง
ลักษณะ ประกอบด้วย
- ส่วนตัวกระจ่า ซึ่งทำจากกะลาขัดเงาตัดออกมา เป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว
- ด้ามเป็นไม้ดัดให้โค้งงอเล็กน้อย เพื่อความสะดวกในการละเลง แต่สมัยโบราณอาจมีการแกะสลักด้าม เพื่อความสวยงามก็มี
วิธีการใช้
- ใช้ละเลงขนมเบื้อง ซึ่งต้องอาศัยศิลปะและความชำนาญในการละเลง ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนมาก
- ตั้งกระทะขนมเบื้องให้ร้อนเช็ดด้วยน้ำมันพอให้ลื่นไม่ติดกระทะ ใช้กระจ่าจุ่มแป้งแล้วมาละเลงให้เป็นวงกลม ต้องเร็วเพราะแป้งจะแห้งเสียก่อน