เทคนิคการทำโดนัท
วันนี้มีเทคนิคและเคล็ดลับในการทำโดนัทมาฝากกันค่ะ หากใครสนใจอย่าลืมแวะมาอ่านกันนะจ๊ะ
โดนัท มี 2 ชนิด คือ
- โดนัทยีสต์ : ลักษณะเนื้อขนมเหนียวเหมือนขนมปัง นุ่ม ฟู วีธีการผสมจะเหมือนกับการทำขนมปัง เพียงแต่นำขนมมาทอดแทนที่จะใช้การอบ
- โดนัทเค้ก : ลักษณะเนื้อขนมจะนิ่มเหมือนเนื้อเค้ก แต่เนื้อจะแน่นกว่า สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
- โดนัทหยอด ลักษณะส่วนผสมจะเหลวเหมือนเนื้อเค้ก นำไปหยอดใส่พิมพ์โดนัทแบบไฟฟ้า (โดนัทจิ๋ว) หรือใส่เครื่องหยอดโดนัท แล้วนำลงทอดก็ได้
- โดนัทแบบกด ลักษณะส่วนผสมจะแห้งกว่าแบบแรก สามารถนำมาคลึงเป็นแผ่นแล้วให้พิมพ์กดโดนัทกดเพื่อทำรูปร่างตามต้องการได้
หมายเหตุ โดนัทเค้กสามารถตีทิ้งไว้ได้นาน 30 – 45 นาที
การทอดโดนัท กับเนยขาว
- โดนัทเมื่อทอดในเนยขาว(สำหรับทอด) ลักษณะขนมที่ได้จะไม่อมน้ำมัน ผิวไม่แฉะ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื่องจากเนยขาวที่ใช้ทอดเมื่อเย็นลงจะแข็งตัวเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ เคลือบผิวโดนัท ทำให้ขนมไม่แฉะ หรืออมน้ำมัน
เทคนิคในการทำโดนัท
- การนวดโดนัทยีสต์ ควรนวดจนก้อนแป้งเนียน หากนวดน้อยเกินไปจะทำให้ผิวโดนัทไม่เรียบ และดูดซึมน้ำมันมากในขณะทอด
- ก่อนเจาะรูโดนัทยีสต์ ควรพักแป้งให้มีการคลายตัวก่อน หากพักแป้งน้อยเกินไปเวลาเจาะรูขนมจะขาดได้ง่าย
- อุณหภูมิที่เหมาะสมในการทอดโดนัท ใช้น้ำมันที่ร้อนจัดแต่ไฟอ่อน หากทอดในน้ำมันที่ไม่ร้อน ขนมจะอมน้ำมัน และหากใช้ไฟแรงหน้าขนมก็จะมีสีเข้มหรือไหม้ก่อนที่ขนมจะสุก และอาจทำให้โดนัทแตกตอนทอดได้
- การทอดโดนัท ไม่ควรกลับโดนัทไปมาหลาย ๆ หน เพราะจะทำให้ขนมที่ได้มีชิ้นเล็กและอมน้ำมัน
- การคลุกน้ำตาล ควรคลุกขณะที่โดนัทร้อน หากรอให้โดนัทเย็นจะคลุกไม่ติด
- การเคลือบไอซิ่ง จะต้องทำขณะโดนัทเย็น หากทำตอนร้อนไอซิ่งจะละลาย
- โดนัทยีสต์โดยทั่วไปจะทำขายวันต่อวัน ไม่นิยมให้ขนมค้างคืนเพราะแป้งจะแข็งทำให้คุณภาพของขนมลดลง
- โดนัทเค้กสามารถเก็บได้ประมาณ 2 – 3 วัน ขึ้นกับวิธีการเก็บ
- โดนัทยีสต์เมื่อทอดสุกแล้วเกิดการเหี่ยว อาจเป็นเพราะ ส่วนผสมแป้งเหลวเกินไป ทำให้โครงสร้างของแป้งไม่อยู่ตัว หรือใส่ยีสต์มากเกินไปทำให้โดนัทขึ้นเร็ว หรืออุณหภูมิของน้ำมันสูงเกินไป ขนมอาจเหี่ยวได้เนื้องจากยังไม่สุกดี
รวบรวมโดย : ครูส้ม (www.zomzaa.com) หากคิดว่ามีประโยชน์ สามารถขออนุญาตินำไปเผยแพร่ต่อได้ค่ะ ไม่หวง แต่รบกวนให้เครดิตเวปส้มซ่าด้วยนะจ๊ะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ ^__^